งานทรัพยากรบุคคล งานตรวจสอบภายใน งานสภา อบต. รายงานและสรุปผล งานบริการประชาชน กระดานถามตอบ ร้องเรียนการทุจริต

                                                                                                                                                    

 

สาระน่ารู้ด้านป้องกันฯ

          รู้หรือไม่ว่า ควันไฟจากเหตุการณ์เพลิงไหม้นั้น สามารถคร่าชิวิตคุณได้
เพราะภายในเวลา 1 วินาที ควันไฟสามารถลอยสูงขึ้นไปได้ถึง 3 เมตร และภายใน 1 นาที
ควันไฟสามารถลอยขึ้นไปได้สูงเท่ากับตึก 60 ชั้น ดังนั้น ทันทีที่เกิดเพลิงไหม้ ควันไฟจะปกคลุม
อยู่รอบๆ ตัวคุณอย่างรวดเร็ว ทำให้คุณสำลักควันไฟตายก่อนที่เปลวเพลิงจะคืบคลานมาถึงตัว 
จะเห็นได้จากสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของเหยื่อซานติก้ามาจากการสำลักควันไฟ
เนื่องจากหนีออกจากร้านไม่ทัน เบียดเสียดแย่งกันออกทางประตูจนถึงขั้นหกล้มและเหยียบกันตาย
ดังนั้น เราจึงควรเรียนรู้วิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเพลิงไหม้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตัวคุณเอง

วิธีการช่วยเหลือตนเองเบื้องต้น เมื่อประสบเหตุเพลิงไหม้

          1. ต้องควบคุมสติให้ได้ อย่าตื่นกลัวจนทำอะไรไม่ถูก แล้วเปิดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้(ถ้ามี) และหากได้ยินสัญญาณเตือนไฟไหม้ ให้รีบออกจากตัวอาคารทันที อย่าเสียเวลาตรวจสอบว่าเพลิงไหม้ที่ใด 
          2. หากเพลิงมีขนาดเล็ก พอที่จะดับเองได้ ให้ใช้ถังดับเพลิง เพื่อดับไฟ หากไม่มีอุปกรณ์ หรือไม่สามารถดับเพลิงเองได้ ให้รีบแจ้งตำรวจดับเพลิง โทร. 199  จากนั้นรีบออกจากตัวอาคารทันที และปิดประตู-หน้าต่างห้องที่เกิดเพลิงไหม้ให้สนิทที่สุดทันที (ถ้าทำได้) เพื่อให้เกิดภาวะอับอากาศ วิธีนี้จะช่วยให้เพลิงไหม้ช้าลง ทำให้ง่ายต่อการดับเพลิง แต่ต้องแน่ใจว่าไม่มีใครติดอยู่ข้างใน แล้วรีบวิ่งหนีออกมา
          3. หากอยู่ในอาคารที่มีเพลิงไหม้ ก่อนจะเปิดประตูต้องแตะลูกบิดก่อน โดยนั่งชันเข่าให้มั่นคงหลังประตู แล้วใช้หลังมือแตะที่ลูกบิดประตู ถ้ามีความร้อนสูงแสดงว่ามีเพลิงไหม้อยู่ในห้อง หรือบริเวณใกล้ๆ ดังนั้น อย่าเปิดประตูโดยเด็ดขาด  แต่หากลูกบิดไม่ร้อน ให้ค่อยๆ บิดออกช้าๆ โดยใช้ไหล่คอยหนุนประตูไว้ หากทำได้ควรหาผ้าชุบน้ำ    ปิดจมูก หรือผ้าห่มชุบน้ำชุ่มๆ ไว้ด้วย
          4. หากต้องเผชิญกับควันไฟที่ปกคลุม ให้ใช้วิธีคลานต่ำๆ และหนีไปยังทางออกฉุกเฉิน เพราะอากาศที่พอหายใจได้จะอยู่ด้านล่างเหนือพื้นห้องไม่เกิน 1 ฟุต เนื่องจากผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุเพลิงไหม้ประมาณร้อยละ 90 เป็นผลมาจากสำลักควันไฟ เพราะมีทั้งก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และไอร้อน ทำให้ขาดออกซิเจน ควรเตรียมหน้ากากหนีไฟฉุกเฉิน (Emergency smoke mask) ไว้จะปลอดภัยกว่า หรืออาจใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่       ตักอากาศ แล้วคลุมศีรษะหนีฝ่าควันออกมา เพราะการคลานต่ำจะไม่สามารถทำได้จากชั้นบนลงชั้นล่างที่มีควัน
          5. อย่าใช้ลิฟต์และบันไดเลื่อนขณะเกิดเพลิงไหม้ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้จะหยุดการทำงานเนื่องจากไม่มีกระแสไฟฟ้า ให้ใช้บันไดหนีไฟเท่านั้น
          6. หากติดอยู่ในวงล้อมของไฟ ให้โทรศัพท์แจ้งหน่วยดับเพลิงว่าท่านอยู่ที่ตำแหน่งใดของเพลิงไหม้ แล้วหาทางช่วยเหลือตัวเองโดยปิดประตูให้สนิท หาผ้าหนาๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันเข้าได้ เช่น ใต้ประตูหรือช่องลมต่างๆ ปิดพัดลมและเครื่องปรับอากาศ แล้วเปิดหน้าต่างส่งสัญญาณด้วยการใช้ไฟฉายหรือผ้าโบก และตะโกนขอความช่วยเหลือ ทั้งนี้ เพื่อให้คนนอกอาคารรู้ตำแหน่งที่แน่นอน
          7. หากมีไฟลามติดตัว อย่าเพิ่งวิ่ง เพราะยิ่งวิ่ง... ไฟจะยิ่งลุกลาม ให้หยุดนิ่ง และล้มตัวลงนอนกับพื้นทันที หลังจากนั้นให้ใช้มือปิดหน้า กลิ้งตัวทับเสื้อผ้าที่ติดไฟจนดับ
          8. ถ้าหนีออกมาได้แล้ว ไม่ควรกลับเข้าไปในอาคารอีก หากยังมีคนอื่นติดอยู่ภายในอาคาร ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงทราบ เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่